ทักษะดิจิตอล – คำ ๆ นี้อาจเป็นคำที่ดูมีความเฉพาะเจาะจงไปหน่อย แต่ถ้าเราจะบอกว่า การใช้โปรแกรมพื้นฐานต่าง ๆ ในระบบคอมพิวเตอร์ได้อย่างเชี่ยวชาญ, การประยุกต์ใช้เว็บไซต์ให้เข้ากับธุรกิจของต้นสังกัดที่ทำงานอยู่ หรือจะเป็นการควบคุมระบบของการรักษาความปลอดภัยแบบเคลาด์ก็ตามที

ทั้งหมดเหล่านี้มันล้วนแล้วแต่เกิดจากการปลูกฝังและฝึกฝนด้านทักษะดิจิตอลเข้ามาก่อน ก่อนที่จะสั่งสมจนเกิดความแก่กล้าทางวิชาจนสามารถใช้งานได้จริง

แต่ใครจะนึกได้ว่า หนึ่งในประเทศที่เป็นแนวหน้าของโลกอย่างสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะในอังกฤษ ทักษะดิจิตอลกำลังเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอย่างหนักในด้านทักษะการทำงาน ซึ่งมันเกิดขึ้นจากปัญหาเล็ก ๆ ที่อยู่ในรั้วโรงเรียนที่ไม่ต่างจากประเทศแถวนี้เท่าไหร

ทักษะดิจิตอลคืออะไร – เราจะเอาเรื่องพวกนี้มาสอนเด็กได้เหรอ เพราะสอนไปไม่รู้เด็กจะทำงานอะไร – วันนี้เราจึงขอสรุปเป็น #briefly จาก BBC มาให้อ่านกัน

ปัญหาหยั่งลึก
เริ่มแรกเรื่องนี้ถูกสะท้อนออกมาโดย General Certificate of Secondary Education (GCSE) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบถึงระบบการเรียนพื้นฐานขั้นที่สอง ที่ได้รับการรับรองในสหราชอาณาจักร ได้เผยข้อมูลที่น่าตกใจผ่าน Learning & Work Institute ว่า ปัจจุบันวิชาด้านไอทีในระบบการศึกษานั้นตกไปราว 40% ตั้งแต่ปี 2015

หรือพูดง่าย ๆ คือในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา คนสนใจเรียนด้านไอทีน้อยลง แม้ว่าจะเป็นการเรียนระดับสองซึ่งเป็นเพียงการเรียนที่มีความสำคัญรองลงมาจากการศึกษาระบบพื้นฐานหลักก็ตาม และแน่นอนว่าการสนใจเรียนไอทีน้อยลง ก็ส่งผลสำคัญต่อเนื้อหาหลักของบทความคือ คนขาดทักษะด้านดิจิตอล

Digital Skill หรือ ไอที คืออะไร? คือทักษะในการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ขั้นพื้นฐานยันผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเบสิกอย่างเช่น การมีความเชี่ยวชาญในการใช้ฟังก์ชั่นต่าง ๆ ของโปรแกรม Office

การมีความรู้ความสามารถในการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์เข้ากับการทำงานต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจในปัจจุบันที่มีการขับเคลื่อนผ่านโซเชียล หรือยันไปถึงการควบคุมระบบอัตโนมัติในการดูแลสมาร์ทฟาร์มขนาดใหญ่ที่ต้องใช้การติดตั้งโปรแกรมที่ซับซ้อน
ในช่วงที่มีการระบาดของ โควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญนั้นได้คาดการณ์ว่า เรื่อง Digital Skill ที่ผู้คนนั้นควรมีจะช่วยฟื้นฟูเยียวยาระบบเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวไวขึ้น
แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้น มันค่อนข้างที่จะตรงกันข้าม เริ่มจากที่ 70% ของว่าที่แรงงานในระบบนั้นคาดหวังว่าบรรดาองค์กร สังกัด หรือนายจ้างของพวกเขา จะช่วยหาโอกาสในการ “สอน” สกิลเหล่านี้ให้ แต่มีแค่ครึ่งนึงของจำนวนคนเหล่านี้ที่ได้รับผลลัพธ์ดังกล่าว
สาเหตุ
ดร. นีล เบนท์ลีย์-กอกแมนน์ ประธานของหน่วยงาน WorldSkills UK ได้พยายามผลักดันให้มีการฝึกสอนเหล่าเยาวชนในสหราชอาณาจักรที่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มีสกิลเหล่านี้

รวมไปถึงบรรดาครูที่ได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานในการสอนสกิลเหล่านี้ ซึ่งเขามองว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ในสหราชอาณาจักรขาดคนที่มีสกิลของดิจิตอลสกิลอยู่ 4 ข้อด้วยกันคือ

♦การขาดบทบาทงานที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในบางสาขา
♦การขาดความเข้าใจ และคำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพที่มีศักยภาพ
♦การขาดแบบอย่างของบทบาทงานที่เกี่ยวข้อง
♦ความยากลำบากในการสร้างวิชาชีพด้านเทคนิคหลายอย่าง
หุ่นทำงานแทน
การลดลงของแรงงานหรือบรรดาผู้คนในแวดวงธุรกิจต่าง ๆ นั้น มีสิ่งที่สะท้อนเป็นข้อมูลชัดเจนผ่านการเพิ่มอัตรางานของ “ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ” ในทางตอนเหนือของอังกฤษที่พุ่งสูงมากตั้งแต่กรกฎาคมที่ผ่าน

เช่น เมืองลิเวอร์พูลเพิ่มขึ้น 115%, ในลีดส์นั้นมีมากขึ้น 253% และที่สำคัญ ในแถบนิวคาสเซิลซึ่งเป็นทางอีสานที่มีปริมาณแรงงานท้องถิ่นเยอะที่สุดในพื้นที่อันดับต้น ๆ ของสหราชอาณาจักร มีการใช้ระบบอัตโนมัติในงานถึง 450%

ซึ่งถ้าผู้อ่านนั้นมีความเข้าใจในเรื่องของข้อมูลด้านต่างประเทศที่มากกว่าเรื่องฟุตบอล แต่ต่อยอดไปยังเรื่องของข้อมูลภายในประเทศด้วยจะทราบดีว่าเมืองเหล่านี้ต่างเป็นเมืองที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของแดนผู้ดีในเรื่องตลาดแรงงาน

จากข้อมูลดังกล่าว ดร. เบนท์ลีย์-กอกแมนน์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“ผมไม่แปลกใจเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบ เวสต์มิดแลนด์ และทางตอนเหนือผู้ผลิตแบบดั้งเดิมกำลังนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น”

“มีการเร่งความเร็วแบบดิจิทัล ในทุกภาคส่วนของการสร้างความต้องการทักษะใหม่ ๆ เพื่อที่จะช่วยอธิบายการ (พัฒนา) แบบก้าวกระโดดเหล่านี้”

แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้สวนทางกันกับอัตราการจ้างงานคนปกติที่มีเรื่องสกิลเทคโนโลยีและดิจิตอล หรืองานด้านบริการเทคฯ กลับลดลงในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมากว่า 57%

โอเคว่ามันเป็นปีที่มีเรื่องของโควิด และสหราชอาณาจักรนั้นก็ถูกจัดเป็นประเทศสีแดงที่มีการควบคุมพื้นที่แน่นหนาสูงสุดเป็นประเทศต้น ๆ ของยุโรปชนิดที่การเข้าออกประเทศนั้นยากมาก การเดินทางภายในประเทศก็ด้วย
แต่ในเรื่องการทำงานด้านดิจิตอลเหล่านี้ที่เราจะสังเกตได้ว่างานบริการหลาย ๆ อย่างไม่จำเป็นต้องมีการเดินทางมากนักแต่กลับมีปริมาณในการจ้างงานลดลง นั่นไม่ใช่เรื่องปกติ

หาคนมาสอน
นั่นจึงทำให้เราต้องย้อนไปถึงรากของระบบการศึกษาที่จะส่งคนเหล่านี้เข้าสู่ตลาดแรงงานของแดนผู้ดีว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องเช่นไรบ้างกับปัญหาเหล่านี้

ยกตัวอย่างจากปากของ แดน แมคคาบี วัย 22 ปี ปัจจุบันเป็นนักออกแบบเกมจากแมนเชสเตอร์ เชื่อหรือไม่ว่าเขาไม่ได้ผ่านสังคมการเรียนระดับมหาวิทยาลัยมาก่อน ดังนั้นการเรียนคอมพิวเตอร์และพวกกราฟิกจึงมาจากสมัยเรียนระดับโรงเรียน

อีกทั้งก็มาจากการขวนขวายของเขาเอง ซึ่งเขาก็ออกมาติติงว่า สถาบันการศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ส่งเสริมให้เพื่อนของเขาได้เรียนดิจิตอลสกิลเลย แถมยังเป็นปัญหาให้เพื่อนนั้นต้องทักมาให้ช่วยเซทธุรกิจและแบรนด์ผ่านโลกดิจิตอลให้ด้วย
“ไม่ว่าจะโรงเรียนหรือมหาลัยควรที่จะแนะนำว่าควรทำไงถึงจะเรียนรู้ดิจิตอลสกิลได้”
– แดน แมคคาบี

แก้ปัญหาจากรั้วสถานศึกษา
สรุปปัญหาสำคัญเลยคือ เขาคิดว่าสิ่งที่สอนอยู่ในโรงเรียนในตอนนี้นั้น มันไม่ได้มีความยืดหยุ่นพอกับบริบทสังคมปัจจุบัน อีกทั้งบรรดาครูที่ดีที่สุด ก็เป็นรากเหง้ามาจากสังคมโรงงานอีก แต่การที่เขาพูดเชิง ๆ นี้ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะดูถูกครูนะครับ เพราะครูเหล่านี้เขาก็เก่งในทางของเขา แต่ปัญหาคือครูเหล่านี้เองก็ไม่มีดิจิตอลสกิลติดตัว แล้วแบบนี้จะให้ไปสอนใครได้เสียหละ?

แมคคาบี ไม่ได้ต้องการให้สถาบันเหล่านี้มานั่งสอนอะไรที่มัน advance มาก เขาแค่อย่างน้อยช่วยสร้าง “สะพาน” ที่จะต่อยอดดิจิตอลสกิลให้คนเหล่านี้ได้บ้างเช่น การใช้ Excel, การจัดการฐานข้อมูล หรือจะทำกราฟิกดีไซน์

ซึ่งถ้าเราอ่านดูแล้ว เรื่องพวกนี้เป็นสกิลที่พื้นฐานมาก แต่ทำไมคนส่วนมากถึงไม่มีทักษะพื้นฐานเหล่านี้หละ? แค่นี้ก็จอดแล้ว

สิ่งที่น่าเศร้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ ตัวของ ดร. เบนท์ลีย์-กอกแมนน์ เอง ก็ได้สะท้อนออกมาถึง “ค่านิยมของอาชีพ” ที่อยู่ภายในสถาบันที่เรียกว่าสถาบันการศึกษาว่ายังมีภาพจำที่ไม่ทันต่อโลกสมัยใหม่ และยังคับแคบเกินไป เขากล่าวว่า

“ผมคิดว่ามีความท้าทายที่ครูเองไม่เข้าใจอาชีพที่เป็นไปได้ มีโอกาสใหญ่ที่นายจ้างจะเข้าไปในโรงเรียนเพื่ออธิบายโอกาสในการทำงานที่หลากหลายและช่วยเชื่อมจุดระหว่างสิ่งที่เยาวชนเรียนในโรงเรียนกับสิ่งที่อาจนำไปสู่ เพื่อเป็นอาชีพ”

“การดำเนินการดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่นายจ้างจะต้องดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจในอนาคตของบุคลากรที่มีความสามารถ”
เอาแค่พื้น ๆ ก่อน
“เราต้องการคนที่มีความสามารถเรื่องดิจิตอลและมีความเข้าใจถ่องแท้ ไม่ใช่แค่คนที่เขียนโปรแกรม Raspberry Pi เพื่อไปควบคุมหุ่นยนต์”

“ผมเคยทำงานกับกลุ่มอนาคตไกลจากเคมบริดจ์ หรือออกฟอร์ดที่ซึ่งมีแต่คนฉลาดและมีนวัตกรรมดี ๆ แต่คนส่วนมากนั้นยังคิดไม่ตกว่าจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับธุรกิจที่มีอยู่จริงได้เช่นไร”

ทั้งหมดนี่คือคำจากปากของ เควิน โฮเวลล์ จาก HTG ซึ่งปัจจุบันนั้นเป็นบริษัทเทคฯ ที่เป็นประเภทให้ความร่วมมือในการช่วยพัฒนาด้านการใช้ซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะการจัดการอบรมให้กับคนเหล่านี้ ที่ Mortimer Community College ใน South Shields เกี่ยวกับวิธีการใช้ซอฟต์แวร์ระบบคลาวด์

เช่น Microsoft Teams, OneDrive และ Windows Virtual Desktops

โฮเวลล์เองก็คิดเหมือนกันว่า ปัจจุบันนั้น รูปแบบของสกิลต่าง ๆ ที่ถูกเสี้ยมสอนในโรงเรียนนั้นต่างเป็นเรื่องของทักษะที่ไม่จำเป็นต่อธุรกิจในปัจจุบันหรือล้าหลังไปแล้ว โฮเวลล์ที่ได้งานจากบริษัทไอทีตั้งแต่อายุ 17 และเข้าเรียนมหา’ลัยแบบพาร์ทไทม์ขณะทำงานไปด้วยนั้นก็ต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้

แน่นอนว่าฟังดูเผิน ๆ ปัญหาแบบนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหาราชอาณาจักรแค่นั้นแน่ ๆ แต่ทั่วทั้งโลกตอนนี้กำลังเผชิญปัญหาเรื่องของการจัดรูปแบบการสอนบทเรียนที่จำเป็นต่อโลกปัจจุบันทั้งในและนอกตำราที่อาจเรียกได้แรง ๆ เต็มปากว่าไร้ประโยชน์ หรือถนอมคำพูดลงมาหน่อยก็คือไม่สอดคล้องกับโลกปัจจุบันแล้ว
ขาดทักษะ = ขาดอาชีพที่ต้องใช้ทักษะ

และปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อมาของการขาดแคลนสกิลดิจิตอลจะเป็นอะไรได้บ้าง หนึ่งในนั้นก็คือ “ความหลากหลายของประเภทงานและความต้องการที่เกิดขึ้นก็น้อยตามไปด้วย” ดร. ไลล่า เพาเวลล์ จากบริษัท Panaseer บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในลอนดอนเคยกล่าวถึงการเลือกงานของเธอว่า

“ตอนที่ฉันเลือกงานที่ต่างจากสิ่งที่จบมา ฉันนึกไม่ถึงหรอกว่างานอย่างการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์จะเป็นตัวเลือกขึ้นมาได้”
เพาเวลล์ ที่เคยทำงานด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์กล่าว เธอนั้นใช้เวลาว่างของเธอไปกับการช่วยทำเวิร์คชอปแนะนำเหล่าเด็กผู้หญิงหรือวัยรุ่นหญิงทั้งหลายนั้นพอรู้จักหลักการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ Stemettes

ซึ่งตัวอย่างของเพาเวลล์นั้นก็แสดงให้เห็นว่า การจบอะไรมานั้นมันไม่สำคัญต่อการขวนขวายหางานที่ต้องใช้สกิลดิจิตอลในภายหลัง ถ้าเกิดว่าใจนั้นรักที่จะเดินทางนี้เราก็แค่ไปหาบทเรียนและเสริมทักษะมาต่อยอดแค่นั้น

แต่แค่เรียนเพื่อรองรับงานนั้นก็คงไม่พอ เพราะผู้เรียนนั้นก็ต้องมีความสนใจในเรื่องเรียนด้วย ซึ่งในบางครั้งเราเองก็มีทั้งสองอย่างในตัว อย่างเช่นความสนใจในภาษาอังกฤษเพื่อที่ให้เกิดความเข้าใจในการเล่นเกมมากขึ้นเพราะเราต้องการจะรู้ว่าในเกมมันพูดอะไรกันบ้าง แต่ประโยชน์ร่วมอีกอย่างก็คือภาษาอังกฤษนั้นเองก็มีประโยชน์ต่อการใช้มองหางานในโอกาสหลังจากนี้

ดังที่ ดร. เพาเวลล์ กล่าวว่า “เหล่าพนักงานทั้งหลายต่างพยายามมองไปถึงคนที่มีประสบการณ์เหล่านี้มาแล้ว – เพราะเขาไม่เคยได้รับการเรียนการสอนมาก่อนเลยก่อนหน้านี้ ถ้าคุณฉลาดพอและมีความตั้งใจจะเรียนรู้ พวกเขาก็ยังสามารถเป็นผู้ช่วงชิงบทบาท (งาน) เหล่านั้นได้”

มีอยู่ทั่วโลก
ความลักลั่นของปัญหาแรงงานที่ขาดซึ่งทักษะพื้นฐานที่สามารถเสริมสมรรถนะในการทำงาน ที่เฉพาะเจาะจงไปยังสหราชอาณาจักรในตอนนี้นั้น ในความเป็นจริงถ้าเราพิจารณาดูดี ๆ ก็จะพบว่าปัญหาเหล่านี้เองนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในแดนผู้ดีอย่างเดียว

เพราะแม้แต่ในประเทศไทยเองนั้นก็ดูจะมีปัญหาคล้ายกันในเรื่องนี้อยู่ ที่ขาดคนมีสกิลเสริมในการทำงาน และทำให้ความหลากหลายในการทำงานนั้นลดลง รวมไปถึงประเภทงานด้วย

ซึ่งแน่นอนว่ามันขัดแย้งกับการที่ช่วงโควิดนั้น จำนวนการจ้างงานก็ลดลงไปอยู่แล้ว แต่ที่หนักกว่าคือทั้งคนที่ตกงานและยังอยู่ในระบบการทำงานทั้งหลายนั้น ยังขาดทักษะสกิลด้านดิจิตอลอยู่เป็นอันมาก

ซึ่งถ้าจะพูดให้เห็นภาพเลยก็คือการใช้สื่อโซเชียลมีเดียขั้นพื้นฐานเป็นไม่ได้เป็นหนึ่งในจุดเด่นของทักษะด้านดิจิตอลขนาดนั้น แต่ทักษะดังกล่าวยังคงต้องการความเฉพาะเจาะจง และการใช้ประโยชน์ที่เห็นผลได้ชัดเจนอยู่ และแน่นอนว่า การแก้ปัญหาเหล่านี้เอง จะต้องมีทั้งความร่วมมือและความเข้าใจในสถานการณ์ที่มีร่วมกันทั้งระบบการทำงานในภาคธุรกิจหรือแรงงาน นายจ้างลูกจ้าง

แต่ที่สำคัญเลยคือ ก็ต้องย้อนเข้าไปยังรั้วสถานศึกษาด้วยว่า – วันนี้คุณช่วยสอน หรือช่วยให้เด็กเห็นความสำคัญของทักษะดิจิตอลรึยัง?

และสุดท้ายนี้ ก็อย่าลืมติดตามงานของเราบนเพจ #uKNOWCreators กันด้วยนะครับ แล้วเจอกันใหม่ในโอกาสหน้าจ้า